โครงการประชุมวิชาการบัณฑิตศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 14
เรื่อง "บัณฑิตวิจัย สร้างสรรค์ และนวัตกรรม : การบูรณาการศาสตร์และศิลป์ ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน"
หลักการและเหตุผล
"บัณฑิตศึกษา" เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาการอุดมศึกษา และเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนโลกไปสู่ยุคสมัยใหม่ที่ต้องการความรู้ที่กระจ่างแจ้งผ่านกระบวนการวิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์กรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ทั้ง 17 ด้าน ในท่ามกลางโลกที่ขาดเสถียรภาพ มีความผันผวน มีความซับซ้อน และมีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
การประชุมวิชาการ “บัณฑิตวิจัย สร้างสรรค์ และนวัตกรรม : การบูรณาการศาสตร์และศิลป์ ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยงานภาคีความร่วมมือ ทั้งสถาบันการศึกษา และสมาคมวิชาการ-วิชาชีพ จึงมุ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการขับเคลื่อนให้องค์ความรู้ ข้อค้นพบ การออกแบบ การสร้างสรรค์ ตลอดจนนวัตกรรมที่ได้จากกระบวนการวิจัยและสร้างสรรค์ของบัณฑิตศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย มาสู่การสนทนา ถกเถียง แลกเปลี่ยน และเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านการประชุมวิชาการฯ เพื่อให้ข้อค้นพบเหล่านั้นได้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการอุดมศึกษา ประเทศชาติ และความเป็นสากลต่อไป
จากเหตุผลดังกล่าว กองบริหารงานวิชาการได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุน
การเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์และงานการค้นคว้าอิสระของอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ
และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จึงได้กำหนดจัดงานการประชุมวิชาการประจำปีขึ้นเพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานผลงานให้แก่อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรและสถาบันการศึกษาอื่นทั้งของรัฐและเอกชน ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์และงานการค้นคว้าอิสระในระดับชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระ
ของอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมาตรฐานผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ
ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้เกิดการบูรณาการระหว่างศาสตร์มากยิ่งขึ้น
3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และการพัฒนาคุณภาพงานวิจัย วิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระของอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น
4. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการต่อยอดองค์ความรู้สู่การวิจัยได้ตรง
ตามความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศชาติ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติมากยิ่งขึ้น
5. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์
กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นต่อไป
การแบ่งกลุ่มนำเสนอผลงานวิจัย แบ่งเป็น 3 กลุ่มสาขาวิชา ดังนี้
1. กลุ่มศิลปะและการออกแบบ
2. กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
3.กลุ่มวิทยาศาสตร์ /วิทยาศาสตร์สุขภาพ /วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม /
สัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
|